
เปรียบเทียบอาการ RSV ในเด็กแล็กและผู้ใหญ่ ต่างกันอย่างไร
เปรียบเทียบอาการป่วยโรค RSV ในเด็กแล็กและผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันอย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ เช็กได้ที่นี่
อาการโรค RSV ของผู้ใหญ่
เรามักจะได้ยินข่าวเด็กเล็กป่วยเป็นโรค RSV กันบ่อยครั้ง แต่เด็กโตหรือผู้ใหญ่เองก็สามารถป่วยเป็น RSV ได้เช่นกัน แต่อาการไม่รุนแรงเท่ากับเด็กเล็ก โดยทั่วไปมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัด คือ
- มีไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส
- จาม
- คอแห้ง เจ็บคอ
- อาจมีอาการไอ ซึ่งมีได้ทั้งไอแห้งหรือไอมีเสมหะ
แม้ว่าอาการของโรค RSV ในผู้ใหญ่จะดูไม่รุนแรงเท่ากับเด็กเล็ก แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีภาวะปอดอักเสบ เป็นโรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน ก็อาจมีอาการรุนแรงจากโรค RSV ได้ เช่น มีภาวะปอดอักเสบ ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรค RSV มักจะมีอาการระยะสั้นไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคหลอดลมอักเสบมาก หรือกลุ่มที่มีโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ก็อาจทำให้มีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนได้
สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวนั้นเสี่ยงต่อการเป็น RSV ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้เช่นกัน ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นต้น
อาการโรค RSV ในเด็กเล็ก
ในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว การแพร่ระบาดของโรค RSV มักเกิดขึ้นได้บ่อยในกลุ่มเด็ก ส่วนมากอาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่อาจพบอาการรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดร่วมด้วย อาการที่พบมีดังนี้
- มีไข้สูง 39-40 องศา ติดต่อกันหลายวัน
- มีน้ำมูกเหนียว ข้น
- ไอเยอะ ไอแบบมีเสมหะมาก
- หายใจครืดคราด บางรายอาจจะหายใจเร็ว หรือหายใจแรง
- มีอาการหอบเหนื่อย
- หากพบภาวะตัวซีดให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
จะเห็นได้ว่าอาการของโรค RSV ในเด็กคล้ายกับหวัดธรรมดา ต่างกันตรงที่ RSV จะมีไข้สูง และระยะเวลาในการเป็นจะนานกว่าไข้หวัดธรรมดา อาจจะมีอาการอยู่ที่ 5-7 วัน เด็กโตที่แข็งแรงดีอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ติดเชื้อครั้งแรก มักมีอาการลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมาได้ โดยมักแสดงอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือเสียงครืดคราดในลำคอ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค RSV โดยตรง มีแค่รักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
หากเป็นแค่อาการหวัดจากเชื้อ RSV ให้รักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล การนอนในโรงพยาบาลที่เกินความจำเป็นนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังอาจก่อผลเสีย เช่น เกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนจากโรงพยาบาล และการแพร่เชื้อ RSV ให้ผู้อื่นในโรงพยาบาลอีกด้วย
วิธีป้องกันการติดโรค RSV สำหรับคนทุกวัย
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและไม่มียาป้องกันโรค RSV แต่สามารถป้องกันการแพร่กระจายโรคได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ให้ทุกคนในบ้านล้างมือบ่อยๆ เพราะนอกจากจะลดเชื้อ RSV แล้วยังลดเชื้ออื่นๆ ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 70
- สามารถใช้เจลแอลกอฮอล์แทนได้ แต่ไม่สะอาดเท่ากับการล้างด้วยสบู่
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กหรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปในที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ทำความสะอาดบ้าน และของเล่นเด็กเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
- ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
- สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ